Accessibility Tools

ศาลจังหวัดพิษณุโลก
Phitsanulok Provincial Court
image

ศาลจังหวัดพิษณุโลก

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage

  ประวัติศาลยุติธรรม

ศาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอยู่มากมายหลายศาลกระจายกันอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆ และมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระมหากษัตริย์ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีการติดต่อกับชาวต่างชาติลัทธิชาวตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามาทำให้ระบบการศาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงมิฉะนั้นอาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชาติตะวันตกได้ จึงมีการปฏิรูประบบการศาลไทยขึ้นใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีบทบาทในการวางรากฐานระบบการศาลยุติธรรมโดยได้รวมศาลที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆให้มารวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดำเนินไปด้วยความรวดเร็วถูกต้องเหมาะสมไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อน

และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางขบวนพยุหยาตรามาวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม และทรงโปรดฯให้จารึกพระราชปรารภในการจัดตั้งศาลยุติธรรมไว้ในแผ่นเงิน ซึ่งเรียกว่า"หิรัญบัตร" มีความกว้าง 9.5 ซ.ม.ยาว 37.2 ซ.ม.จำนวน 4 แผ่น ฝังอยู่ใต้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมบนแผ่นเงินจารึกด้วยอักษรไทยที่สวยงามและทรงคุณค่ามาก แสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดินว่ามีพระราชประสงค์ให้ตั้งศาลขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดีทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากรและพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

ศาลจึงเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้ และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครครบรอบ 220 ปี ซึ่งตรงกับศาลยุติธรรมครบรอบ 120 ปี ในปี พ.ศ. 2545สำนักงานศาลยุติธรรมจึงร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่มีต่อศาลยุติธรรมจึงถือเอาวันที่ 21 เมษายนของทุกปีเป็น "วันศาลยุติธรรม"

ทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

                    

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2478 ได้มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมแบ่งแยกงานศาลยุติธรรมออกต่างหากจากกันเป็นสองฝ่าย คืองานธุรการและงานตุลาการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการส่วนงานตุลาการ คือการพิจารณาพิพากษา เป็นอำนาจของตุลาการโดยเฉพาะ นับแต่ตั้งกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานธุรการของศาลยุติธรรมมาได้ 100 ปีเศษ จึงได้เกิดแนวความคิดที่จะแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้พ้นจากข้อระแวงสงสัยว่าศาลยุติธรรมอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารและไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี

จนกระทั่งได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 5 บัญญัติให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 จึงถือว่าศาลยุติธรรมแยกออกจากกระทรวงยุติธรรมนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ประวัติศาลจังหวัดพิษณุโลก

        ศาลจังหวัดพิษณุโลก เดิมคือศาลมณฑลพิศณุโลก สร้างขึ้นในปี ร.ศ.118 หรือปีพุทธศักราช 2443 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  โดยสร้างขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกับศาลมณฑลปราจีนบุรี ศาลมณฑลนครราชสีมา ศาลมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อจากศาลมณฑลพิศณุโลกเป็นศาลจังหวัดพิษณุโลก

 ศาลมณฑลพิศณุโลก พ.ศ. 2443 – 2499 

          อาคารศาลมณฑลพิศณุโลกเป็นตัวอาคารไม้ทรงสี่เหลี่ยมชั้นเดียวยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ประกอบด้วยห้องพิจารณา ห้องพักผู้พิพากษา และห้องควบคุมจำเลยหรือผู้ต้องหา อาคารศาลมณฑลพิศณุโลกได้ใช้เป็นที่ทำการเรื่อยมา แต่เนื่องจากตัวอาคารทรุดโทรมลงมาก ประกอบกับคดีความมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้อาคารเดิม ไม่สามารถจะเอื้ออำนวยความสะดวก   ให้แก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาลได้เพียงพอ  หลวงบริรักษ์จรรยาวัตร อธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ได้ดำเนินการรื้ออาคารเดิมและสร้างตัวอาคารศาลใหม่ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2499 เป็นอาคารตึกทรงไทย 2 ชั้น ก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2500 สิ้นระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปี 1 เดือน 9 วัน ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1,730,000 บาท อาคารที่ก่อสร้างใหม่กว้าง 14.58 เมตร  ยาว 59.45 เมตร เนื้อที่ประมาณ 959.77 ตารางเมตร นอกจากจะใช้เป็นที่ทำการศาลจังหวัดพิษณุโลกแล้ว ยังใช้เป็นที่ทำการสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ที่ทำการศาลแขวงพิษณุโลก และที่ทำการสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 6  อีกด้วย ต่อมาปริมาณงานและอรรถคดีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้อาคารศาลจังหวัดพิษณุโลกคับแคบไม่เหมาะสมกับปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลและจำนวนเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้ การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลเป็นไปด้วยความล่าช้า เป็นผลเสียหายต่อประชาชน  ผู้เป็นคู่ความในคดี

ศาลจังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2500

          ดังนั้น ในปี พ.ศ.2526 กระทรวงยุติธรรมจึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมขึ้นเป็นอาคาร 4 ชั้น เพื่อใช้เป็นที่ทำการของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ศาลแขวงพิษณุโลก สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 6 ซึ่ง ต่อมาได้มีหน่วยงานอื่นใช้อาคารดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกคือ สำนักงานคุมประพฤติภาค 6 สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดพิษณุโลก และส่วนหลังทางปีกซ้ายของอาคารเป็นห้อง   ควบคุมจำเลยหรือผู้ต้องหา และปรับปรุงซ่อมแซมต่อเติมอาคารศาลจังหวัดพิษณุโลก  โดยลงมือก่อสร้างและต่อเติมซ่อมแซมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2526 ต่อมาปี พ.ศ.2538 กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งศาลจังหวัดพิษณุโลก แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพิษณุโลกขึ้น โดยใช้อาคารศาลจังหวัดพิษณุโลกชั้นล่างทางด้านปลีกซ้ายของอาคารเป็นที่ทำการ ปัจจุบันศาลจังหวัดพิษณุโลกประกอบด้วยห้องพิจารณา 9 บัลลังก์ ห้องพักผู้พิพากษา 2 ห้อง ห้องผู้พิพากษาเวรสั่ง 1 ห้อง ห้องผู้ต้องหารอปล่อยตัวชั่วคราว 1 ห้อง ห้องพักทนายความ 1 ห้อง ห้องธุรการ 1 ห้อง ห้องเก็บสำนวน 2 ห้อง ศูนย์หน้าบัลลังก์ 1 ห้อง ห้องไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท 2 ห้อง ห้องประชาสัมพันธ์ 1 ห้องและห้องสมุด 1 ห้อง มีผู้พิพากษา 17 คน และมีเจ้าหน้าที่ศาล รวม 48  คน

ศาลจังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2526

        ขณะนั้นศาลจังหวัดพิษณุโลกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวกับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและ  เยาวชนจังหวัดพิษณุโลก ได้แยกไปยังสถานที่ตั้งแห่งใหม่แล้ว แต่เนื่องจากปริมาณคดีและปริมาณงานของศาลจังหวัดพิษณุโลกมีมากขึ้น สภาพอาคารศาลที่ใช้มา ตั้งแต่ พ.ศ.2500 มีสภาพคับแคบ ไม่สะดวกต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนผู้มาติดต่อราชการ จึงดำเนินการเพื่อของบประมาณมาต่อเติมหรือสร้างอาคารเพิ่ม นายสุพัฒน์  พงษ์ทัดศิริกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล เห็นว่าลักษณะอาคารศาลเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังคงมีลักษณะสง่าและสวยงาม ยังเหมาะสมกับเป็นศาลสถิตย์ยุติธรรมอยู่จึงประสงค์จะคงอาคารศาลในปัจจุบันไว้ และออกแบบก่อสร้างเพิ่มเติม เช่นก่อสร้างเป็นอาคารที่ 2 หรือต่อเติมพื้นที่อาคารเดิมในปัจจุบันออกไปเพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น กองออกแบบและก่อสร้าง สำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกแบบให้เสร็จแล้ว  ศาลจังหวัดพิษณุโลกได้ตั้งคำของบประมาณให้การต่อเติมอาคารศาล ในปีงบประมาณ 2548  และต่อเติมเสร็จเรียบร้อยแล้ว

        เนื่องจากสภาพอาคารศาลจังหวัดพิษณุโลก ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2500 มีสภาพคับแคบ ไม่เหมาะสมกับปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาล ทำให้ไม่สามารถจะอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาลได้เพียงพอ ดังนั้น ในปี พ.ศ.2555 สำนักงานศาลยุติธรรม จึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดพิษณุโลก ขนาด 14 บัลลังก์ 1 หลัง  พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบในวงเงินทั้งสิ้น 199,950,000 บาท

ศาลจังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน

เขตอำนาจของศาลจังหวัดพิษณุโลก

        มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั่วทั้งจังหวัดพิษณุโลก  ซึ่งมีด้วยกัน 9 อำเภอ คืออำเภอเมืองพิษณุโลก, อำเภอวังทอง, อำเภอพรหมพิราม, อำเภอบางระกำ, อำเภอบางกระทุ่ม, อำเภอนครไทย, อำเภอวัดโบสถ์, อำเภอชาติตระการ และอำเภอเนินมะปราง

 

วิสัยทัศน์ของศาลจังหวัดพิษณุโลก

“ศาลจังหวัดพิษณุโลกจะเป็นเลิศในการบริการประชาชนและอำนวยความยุติธรรมด้วยความรวดเร็ว”

พันธกิจของศาลจังหวัดพิษณุโลก

  1. จัดระบบข้อมูลของศาลให้ครบถ้วนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบและเรียกใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และถูกต้อง
  2. นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้บริการแก่ประชาชนด้วยความสะดวกรวดเร็ว และถูกต้อง
  3. อำนวยความสะดวกและสนับสนุนข้อมูลทางธุรการในการนั่งพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องและครบองค์คณะ
  4. พัฒนาบุคลากร  และระบบงานของศาลอย่างต่อเนื่อง